หลักการและเหตุผล

              กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง (Experiential Education) บนฐานสมรรถนะ (Competencies-based) มาตั้งแต่ปี 2545 โดยสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education หรือ CWIE) เพื่อให้นักศึกษามีสมรรถนะ พร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (Ready to Work) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาฝ่ายผลิตและสถานประกอบการฝ่ายผู้ใช้บัณฑิต (University-workplace Engagement) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งมาตรา 35 และ 36 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และนโยบายมุ่งเน้นของ อว. ในด้านการอุดมศึกษา คือ “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” ให้ยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลางหัวใจสำคัญ คือ การลดภาระของนักศึกษาและผู้ปกครอง และการลดภาระของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความสุข ทั้งในระหว่างการศึกษาและเมื่อจบแล้วมีอาชีพ มีรายได้ รวมทั้งทำให้อาจารย์ผู้สอนมีความสุข สามารถทำงานได้คล่องตัว
                  ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ อว. ส่งเสริมให้มีการจัดหลักสูตร CWIE มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่าย CWIE 9 เครือข่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 97 แห่ง จัดหลักสูตร CWIE จำนวน 3,034 หลักสูตร มีนักศึกษา CWIE จำนวน 92,219 คน และมีสถานประกอบการเข้าร่วมจัด CWIE จำนวน 13,858 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีการยกระดับ CWIE สู่ CWIE นานาชาติ โดยมีสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 21 แห่ง จัดหลักสูตร CWIE นานาชาติ จำนวน 79 หลักสูตร มีนักศึกษา CWIE นานาชาติ จำนวน 1,254 คน และมีสถานประกอบการนานาชาติร่วมจัด CWIE จำนวน 348 แห่ง
(https://cwie.mhesi.go.th/cwieStatistics ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน 2566) ซึ่งพบว่าบัณฑิตที่จบหลักสูตร CWIE ส่วนใหญ่   

ได้งานทำเร็วกว่าหลักสูตรปกติโดยผู้ประกอบการมีความพึงพอใจคุณภาพบัณฑิต CWIE และเข้าร่วมจัด CWIE มากขึ้นทุกปี
               อว.สมาคมสหกิจศึกษาไทย และเครือข่าย CWIE ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันและส่งเสริมการจัด CWIE มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสหกิจศึกษาบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE DAY และมีการจัดงานมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อแสดงให้เห็น  ถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาในรูปแบบ CWIE โดยในปี พ.ศ. 2567 จะเป็นการจัดงาน CWIE DAY ครั้งที่ 14 ภายใต้แนวคิด “THE NEXT CWIE’s FUTURE : พัฒนาคน ตอบโจทย์พัฒนาประเทศกับ CWIE” ในวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตสาหกรรแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สมาคมสหกิจศึกษาไทย รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถานประกอบการ และนิสิตนักศึกษา

 
 

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน

  1. เพื่อถ่ายทอดนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนในระดับประเทศและแนวทางการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ของการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน
  3. เพื่อมอบรางวัลผลงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่นให้แก่นักศึกษา บุคลากร ที่มีผลการดำเนินงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น และสถานประกอบการที่สร้างคุณประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานอย่างต่อเนื่อง
  4. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และนักศึกษา ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจความคิดเห็นและหาแนวทางในการร่วมกันดำเนินการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน
 
 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ทุกภาคส่วนได้ทราบถึงนโยบายการมอบนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนในระดับประเทศ และแนวทางการส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  2. บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม นักศึกษาและผู้เข้าร่วมงาน มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน
  3. นักศึกษา บุคลากร ที่มีผลการดำเนินงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานดีเด่น และสถานประกอบการ
    ที่สร้างคุณประโยชน์ในการพัฒนาการดำเนินงานสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานอย่างต่อเนื่องได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานในภาพรวมของประเทศ
  4. บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและนักศึกษา ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ
    และความคิดเห็นระหว่างกัน